7 เคล็ดลับ วางแผนการเงิน ก่อนไปเที่ยวเมืองนอก

การท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นหนึ่งใน Lifestyle ของคนในยุคนี้ การพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศนั้น ย่อมแตกต่างจากการไปเที่ยวคนเดียวหรือไปกับเพื่อน ๆ เพราะต้องมีการวางแผนที่รัดกุมขึ้น ไม่ว่าจะในเรื่องของการวางแผนเงินออม หรือแผนการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับผู้ร่วมทริป

วันนี้ เรามีเคล็ดลับในการวางแผนการเงินสำหรับการเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเองกับครอบครัวให้สนุก และอยู่ในงบประมาณที่เหมาะสมมาฝากกันครับ

7 เคล็ดลับ วางแผนการเงิน ก่อนไปเที่ยวเมืองนอก

Travel concept

1. กำหนดประเทศที่จะไป

แต่ละคนย่อมมีประเทศในฝันที่แตกต่างกันไป บางคนอยากสัมผัสอากาศหนาว ไปเล่นสกีที่ยุโรป บางคนอยากขับรถเที่ยว ดูธรรมชาติที่นิวซีแลนด์ บ้างอยากไปศึกษาวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น ในการเลือกประเทศเป้าหมายนั้น นอกเหนือจากความชอบส่วนตัวแล้ว ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้ร่วมทริปด้วย เช่น เด็กเล็กอาจจะยังไม่เหมาะกับการนั่งเครื่องบินนาน ๆ ผู้สูงอายุอาจมีความลำบากหากต้องเดินไกล ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปประเทศไหนดี เราก็สามารถเริ่มเก็บเงินก่อนได้เลยครับ

2. ตั้งเป้าหมายการออมโดยเริ่มจากการประมาณค่าใช้จ่ายต่อคน

งบค่าใช้จ่ายย่อมขึ้นกับจำนวนคนเดินทางและกิจกรรมที่จะทำ เราอาจสอบถามงบประมาณแบบคร่าว ๆ จากเพื่อนที่เคยไปเที่ยวมาก่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ได้แก่ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร การเดินทาง และกิจกรรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่จะเข้าชม จากงบประมาณคร่าว ๆ ที่ได้ เราอาจจะบวกเพิ่มไปอีก30% ไว้สำรองค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น สำรองค่าตั๋วที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างปี อัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น ค่าทำวีซ่า อุปกรณ์กันหนาว หรือเก็บไว้เป็น Pocket Money ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายการออม เช่น คุณยุทธ์วางแผนพาภรรยาและลูกสาวไปญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 วัน โดยกำหนดงบประมาณไว้คนละ 35,000 บาท ดังนั้น เป้าหมายการออมของคุณยุทธ์จึงอยู่ที่ 136,500 บาท หากคุณยุทธ์เริ่มเก็บเงินตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เดือนละ 15,000 บาท หมายความว่า กำหนดการท่องเที่ยวของคุณยุทธ์ คือ หลังจาก 9 เดือนข้างหน้า หรือประมาณเดือนตุลาคม 2558

3. เลือกช่วงเวลาที่จะเดินทาง

โดยพิจารณาจาก
1. กำหนดการเดินทางจากแผนการออมข้างต้น
2. เวลาที่จะสามารถลางานได้ หรือช่วงปิดเทอม
3. สภาพภูมิอากาศของประเทศที่จะไป หรือกิจกรรมที่จะทำ เช่น จะไปดูซากุระที่ญี่ปุ่น ควรเดินทางช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเมษายน ถ้าจะไปสกีรีสอร์ทที่เกาหลี ควรไปช่วงพฤศจิกายนถึงมีนาคม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเราเดินทางไปในประเทศที่ไม่ได้มีความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศในระหว่างปีมากนัก การหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วง High Season จะทำให้เราได้ราคาตั๋วเครื่องบิน และที่พักที่ถูกลง ในตัวอย่างนี้ คุณยุทธ์ตั้งใจจะพาครอบครัวไปชมซากุระในช่วงลูกสาวปิดเทอม จึงกำหนดช่วงเวลาการเดินทางไว้ที่เดือนเมษายน 2559

4. ติดตามโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินและที่พัก

ในระหว่างการออม เมื่อเงินออมของเรามากพอที่จะชำระค่าตั๋วเครื่องบินได้ อย่าพลาดโอกาสซื้อตั๋วราคาโปรโมชั่น เพราะการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าจะทำให้เราได้ตั๋วในราคาที่ถูก จากตัวอย่างข้างต้น ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นไป คุณยุทธ์จะมีเงินออมมากกว่า 45,000 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการซื้อตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพ-โตเกียวในราคาโปรโมชั่นสำหรับสายการบิน Low Cost ที่เราสามารถหาได้ในราคาประมาณ 10,000 – 15,000 บาทต่อคน การติดตามโปรโมชั่นนั้นสามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น ทาง Fanpage หรือ LINE รวมถึงคอยติดตามโปรโมชั่นจากบัตรเครดิตด้วย

5. การเลือกที่พัก

นอกจากตั๋วเครื่องบินแล้ว หลายบริษัทจัดโปรโมชั่นเป็น Package คือ ซื้อตั๋วเครื่องบินพร้อมกับที่พักในราคาพิเศษ ในกรณีเช่นนี้ เราควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องตำแหน่งของที่พัก ประกอบกับแผนการท่องเที่ยวของเราด้วย ข้อควรระวัง เช่น การเข้าพักในโรงแรมที่ห่างจากตัวเมือง ถึงแม้จะมีราคาถูกกว่า แต่อาจจะไม่คุ้มค่าเมื่อคำนึงถึงค่าเดินทางระหว่างที่พักไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละวัน รวมถึงเวลาที่ต้องเสียไปในระหว่างการเดินทาง ในส่วนของที่พักราคาประหยัด นอกเหนือจากที่พักแบบโรงแรมแล้ว เราอาจเข้าไปหาที่พักจาก Airbnb ซึ่งเป็น Website ที่ให้เจ้าของที่พักรายย่อยเปิดให้เช่าเองโดยตรง อย่างไรก็ตามควรอ่าน Review การให้บริการให้ดีก่อนตัดสินใจนะครับ

6. วางแผนการท่องเที่ยวและหาข้อมูล

อ่าน Review ตาม Website และจด Highlights ของสถานที่ที่ต้องการจะไป รวมถึงศึกษาวิธีการเดินทางระหว่างสถานที่ในแต่ละจุด อย่าลืมพิจารณาความคุ้มค่าในการซื้อตั๋วรถแบบเหมา เช่น ตั๋วรถไฟรายวัน ตั๋วรายสัปดาห์ หรือตั๋วรถไฟระหว่างประเทศ เช่น Eurail สำหรับประเทศในยุโรป นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลพิเศษอื่น ๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ที่จะช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เช่น พิพิธภัณฑ์ Louvre ในประเทศฝรั่งเศส จะเปิดให้เข้าชมฟรีในวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของทุกเดือนในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม

7. แลกเงิน Pocket Money

นอกเหนือจากค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักซึ่งเราได้ทำการจองและชำระล่วงหน้าไปแล้ว จำนวนเงิน Pocket Money นั้นควรครอบคลุมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตั๋วเข้าชมสถานที่และของฝาก เราอาจพิจารณานำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศเพื่อสำรองกรณีฉุกเฉิน โดยโทรไปเปิดใช้บริการต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคารเจ้าของบัตรก่อนวันเดินทาง

สุดท้ายนี้ อย่าลืมเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อการท่องเที่ยวที่ราบรื่นและมีความสุขตลอดการเดินทางครับ

ที่มา : KrungsriGuru

Gallery

Tag

บทความน่าสนใจ

Promotion : ตะลุยญี่ปุ่น-เกียวโต-โอซาก้า ชวนเที่ยวฟินอินเจแปน รับส่วนลดสูงสุด 15% และเครดิตเงินคืนสูงสุด 4,000 บาท

“เรื่องญี่ปุ่นต้องกรุงศรี” บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ชวนเที่ยวฟินอินเจแปนแบบสุดคุ้ม มอบเค