มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “ไทยเที่ยวไทย” จากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วง 4 เดือนนี้ ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2563 วงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ล่าสุดได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการ ใน 3 แพ็คเกจ ได้แก่
- แพ็คเกจ “กำลังใจ” เพื่อตอบแทนบุคลากรแนวหน้าในการรับมือโควิด-19 โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 1.2 ล้านคน เที่ยวฟรีผ่านบริษัทนำเที่ยว เป็นแพ็คเกจ 2 วัน 1 คืน ใช้งบ 2,400 ล้านบาท หรือราว 2,000 บาทต่อคน
- แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าโรงแรม 40% ต่อคืน สูงสุดไม่เกิน3พันบาทต่อคืน
- แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” เพื่อช่วยเหลือสายการบินต้นทุนต่ำ รถเช่า โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 40%
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขั้นตอนในการจองรับสิทธิทั้ง 3 แพ็คเกจจะเปิดให้ผู้รับสิทธิลงทะเบียนผ่านทางดิจิตอล โดยอยู่ระหว่างหารือทางเทคนิคว่าจะเป็นแอพพลิชั่น หรืออาจจะเป็นเว็บไซต์ ซึ่งหากได้ข้อสรุปจะประกาศให้รับทราบต่อไป
สำหรับการจองจะเป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ ที่จะมีการตั้งชื่อเดียว เพื่อสื่อให้เห็นว่าเป็นการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อที่เหมาะสม และเมื่อคนคลิ๊กเข้ามาระบบ ก็จะแยกหัวข้อการจองออกมาเป็น3แพ็คเกจให้เลือกจองได้ เช่น
หากเป็นเจ้าหน้าที่อสม. หรือ รพ.สต.ก็เข้าไปเลือกรับสิทธิในแพ็คเกจที่ 1 คือ “กำลังใจ”
ส่วนประชาชนทั่วไป ถ้ารับสิทธิที่รัฐจะสนับสนุนค่าห้องพัก 40% ต่อคืนก็เลือกที่แพ็คเกจ 2 คือ “เราไปเที่ยวกัน”
ถ้าเป็นการจองสิทธิรับการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินหรือรถเช่า 40% แต่ไม่เกิน1,000บาทก็เลือกไปที่แพ็คเกจที่3 คือ “เที่ยวปันสุข”
โดยประชาชนจะต้องเข้าไปเลือกซื้ออี- เวาเชอร์ หรือบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้ประกอบการนำมาขาย ซึ่งในส่วนของห้องพักจะกำหนดไว้ที่ 5 ล้านห้อง(รูมไนท์)และราคาที่โรงแรมนำมาเสนอขายจะต้องลด 50%แล้ว และต้องขายในราคาที่ถูกกว่าออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA)
ใครสนใจจองโรงแรมไหน ก็เข้าไปซื้อ อี-เวาเชอร์ โดยผู้ซื้อจ่ายค่าห้องพัก 60% และรัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน ภายใต้เงื่อนไขจองห้องหนึ่งห้ามเกิน 5 คืน โดยรัฐจะโอนเงิน 40% ของค่าห้องพักให้กับโรงแรม หลังจากลูกค้าเช็คเอ้าท์
อีกทั้งระหว่างการเข้าพัก รัฐจะสนับสนุนเงินให้อีก 600 บาทต่อคืน เพื่อให้นำไปใช้จ่ายกิจกรรมในด้านการท่องเที่ยวอื่นๆเช่นใช้บริการสปา ซื้อของที่ระลึก ร้านอาหาร เพื่อให้นำไปใช้จ่ายในพื้นที่ที่มีการข้ามจังหวัดในการเดินทางไปเข้าพัก
ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินเบื้องต้น สายการบินต้นทุนต่ำเสนอราคาบินในประเทศไป-กลับ อยู่ที่ 2,500 บาท ผู้เดินทางที่เข้าไปจองซื้อจ่าย 60% และรัฐช่วย 40% แต่ไม่เกิน1,000 บาท
อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในแพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” เชื่อว่าจะได้รับความสนใจมาก ทั้งจากคนส่วนใหญ่ที่อยากจะเดินทางท่องเที่ยว เพราะจ่ายค่าโรงแรมในราคาที่ถูกลง 3 เด้ง
เด้งที่1 คือ ค่าห้องที่โรงแรมนำมาขายก็ลด 50% จากปกติ
เด้งที่ 2 รัฐจ่ายค่าห้องให้ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน
เด้งที่ 3 ยังได้รับเงินอีก 600 บาทต่อคืน เพื่อนำไปใช้จ่ายทั้งในโรงแรมและนอกโรงแรมอีกด้วย ถ้าจองพัก 5 คืนก็ได้อีก 3,000 บาท
ยกตัวอย่างโรงแรมขายห้องพักคืนละ 1,000บาท พัก 1 คืน จ่าย 600 บาท รัฐช่วยจ่าย 400 บาท และยังได้เงินที่รัฐจ่ายให้นำไปใช้จ่ายในพื้นที่มีเดินทางไปเที่ยวอีก 600 บาท รวมแล้วเราก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 1,000 บาท
แต่ถ้าพัก 5 คืน จากราคาห้อง 5,000 บาท ก็จะจ่ายแค่ 3,000 บาท เพราะรัฐจ่ายให้ 2 พันบาท บวกกับเงินที่ได้อีก 600 บาทต่อคืน ก็ได้เพิ่มมาอีก 3,000 บาท
หรือถ้าจะเป็นคนกำลังซื้อสูง ที่มีกำลังที่จะนอนห้องพักหรู อย่างพูลวิลล่า โดยโรงแรมขายคืนละ 1 หมื่นบาท ถ้าพัก 5 คืน ปกติราคา 5 หมื่นบาท แต่เมื่อรัฐช่วยจ่ายสูงสุดวันละ 3 พันบาท ก็จ่ายเพียง 3.5 หมื่นบาทเท่านั้น เพราะรัฐช่วยจ่ายให้ 1.5 หมื่นบาท บวกกับเงินที่ได้อีก 600 บาทต่อคืน ก็ได้เพิ่มมาอีก3,000บาท
ทั้งนี้เงิน 600 บาทต่อคืนที่รัฐโอนมาให้ หากไม่ได้นำไปใช้จ่ายก็จะถูกยึดคืน โดยสามารถนำไปใช้จ่ายในร้านค้าที่ร่วมโครงการ ที่จะใช้วิธีสแกนบาร์โค้ด ทั้งลูกค้าและผู้ขายก็มีระบบเป๋าตุง และถุงเงินของธนาคารกรุงไทยอยู่แล้ว ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาใช้ได้ในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น
ล่าสุด 16 มิถุนายน 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว “เที่ยวปันสุข” หลังจากนี้จะต้องดำเนินการจัดทำรายละเอียด ขณะที่นายกฯ กำชับให้ดำเนินการมาตรการด้วยความต้องทำให้โปร่งใส