ชมแสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ปราสาทหินพนมรุ้ง (มี.ค.-เม.ย.59)

วันนี้ทีมงานกูพาไปขอแอบแชร์อีเว้นท์ที่น่าสนใจอีกงานที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ โดยงานนี้ที่จะเกิดในช่วงต้นเดือนหน้ากับปรากฎการณ์ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บาน ซึ่งสำหรับปรากฎการณ์นี้จะมีทั้งหมด 4 ช่วงเวลา โดยหากจะดูพระอาทิตย์ขึ้นต้องช่วงในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน จุดที่ดูคือหลังปราสาทแนะนำเข้าทางประตู 3 ขึ้นทางอำเภอนางรอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประตูแรกที่เจอเรียกว่าประตู 3 (จุดเข้าปราสาทพนมรุ้งมี 3 ประตู) จอดรถที่ลานจอดเดินขึ้นบันไดปราสาทมาก็ชมได้เลย และทางจังหวัดบุรีรัมย์จะจัดงานใหญ่ร่วมกับททท.ช่วงงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี 2559 ในระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2559 ที่มีขบวนแห่ช่วงกลางวัน และกลางคืนมีการแสดงแสงสีเสียง

สำหรับอีกช่วงเวลาหนึ่งคือวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี จะเป็นพระอาทิตย์ตก ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานเหมือนกัน จุดที่ชมคือด้านหน้าปราสาท(ตามภาพแรก)ก็เข้าประตู 3 แล้วเดินอ้อมมาด้านหน้าปราสาทตอนนี้คงได้ชมแบบเข้าใจและไม่พลาดอย่างแน่นอน…

ทีนี้การชมต้องแบ่งปันกันสลับกันชมเพราะช่วงที่พระอาทิตย์ผ่านช่องประตูเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ใจเขาใจเราแบ่งปันกันชมแม้จะมีทั้งหมด 4 ช่วงใน 1 ปีก็ตาม บางครั้งอาจดูไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศเปิดหรือไม่ มีฝนหรือไม่ เพราะฉะนั้นในวันที่สามารถชมได้ต้องแบ่งปันกันครับ ชาวบุรีรัมย์ร่วมเป็นเจ้าภาพที่แนะนำนักท่องเที่ยวที่เค้าเดินทางไกลมาชม ร่วมด้วยช่วยกันครับ แล้วพบกัน ชมพระอาทิตย์ตก 6-8 มีนาคม 2559

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447 – 8 , ที่ทำการปกครองจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. 0-4466-6501 ,ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. 0-4466-6531 , อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0-4466-6251


คลิปบรรยากาศในปี 2015 : คึกคัก! นทท.ชมดวงอาทิตย์ส่องผ่านประตูปราสาทพนมรุ้ง

ข้อมูลเพิ่มเติมอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร ซึ่งคำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่” นั่นเอง

โดยตัวปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอด อันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่าโรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ททท.)

ปัจจุบันปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สามารถเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. โดยเสียค่าเข้าชมชาวไทย ราคา 20 บาท และชาวต่างชาติราคา 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ 0 4478 2715

ลายแทงการเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวเข้าบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 2117 และ 2221) ไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร

2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย) รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพนมรุ้ง และควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง

ที่มา : facebook.com/likeburiram

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น