News : พิพิธภัณฑ์ปลาหิน บอกเล่าทะเลไทย จ.สุราษฏร์ธานี

ถ้าไม่นับจากการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเรื่องปลาทะเล รวมถึงดูข้อมูล สารคดีเกี่ยวกับปลาทะเลไทย เชื่อว่าหลายคนตอบไม่ถูก ตัวผู้เขียนเองก็ตอบไม่ถูก เพราะทุกวันนี้จะเห็นแต่ปลาซ้ำๆ กันไม่กี่ชนิด ที่วางขายในท้องตลาด หรือ จากเรือประมงพื้นบ้าน ที่นำเข้ามาขายตามสะพานปลาหรือตลาดริมทะเล

hf7caj9fh5ade7jbaa6bk

นั่นเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่า ปลาบางชนิดไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจเลยถูกมองข้าม หรือไม่ก็ต้องเป็นปลาขนาดใหญ่ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่ท้องทะเล หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะปลาบางชนิดสูญพันธุ์ไป

วันนี้มีแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของปลาในท้องทะเล นอกเหนือไปจากหนังสือ และยังน่าทึ่งว่า ยังไงปลาที่ว่านี้ก็ไม่ตายแน่ๆ เพราะพวกมันเป็นปลาหิน ที่มีตั้งแต่ปลาตัวเล็กๆ ไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ และยังมีปลาแปลกๆ อย่างปลาพญานาค ที่เคยเป็นข่าวเจอในแม่น้ำโขง ทั้งหมดนี้ รวมอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ปลาหินดอนสัก ตั้งอยู่หมู่ 5 ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี แค่แยกจากถนนใหญ่ (ก่อนถึงทางเข้าบ้านเกาะแรต) เข้ามาตามทางลูกรังนิดเดียว ก็ถึงแล้ว

ที่เหลือเชื่อไปกว่านั้นก็คือ ปลาทั้งหมดเหล่านี้ แกะสลักโดย ลุงกิตติ สินอุดม เพียงลำพัง ด้วยเพียงหวังจะให้ปลาหินเหล่านี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ปลาในท้องทะเล ที่ถูกคุกคามจากการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย เช่น ใช้อวนตาถี่ อวนลาก อวนรุน หรือการจับปลาในฤดูวางไข่ เป็นต้น

gabga7jakaacfc5hb5c6j

ลุงกิตติ เป็นชาวบางตะบูน จ.เพชรบุรีโดยกำเนิด ก่อนจะย้ายมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในปี 2486 คุ้นเคยกับอาชีพประมงมาแต่เล็กจนโต ก่อนจะหันมาทำแพปลา ต่อมาให้ลูกๆ สานต่อกิจการ เมื่ออายุมากขึ้น

ลุงกิตติบอกว่า ตอนที่มาอยู่ดอนสักครั้งแรก ที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก ทั้งป่าชายเลน และสัตว์น้ำชุกชุม ขนาดว่ามีแค่มือเปล่าๆ ก็ไม่อดตายหรือบางครั้งพายเรืออยู่ ปลากระโดดเข้าเรือก็มี แต่พอหลังปี 2546 ก็ไม่เห็นภาพนี้อีกเลย ปลาและสัตว์ทะเลเริ่มหายากมากขึ้น บางชนิดอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงเกิดความคิดว่า จะทำอย่างไรเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้รู้จักปลาชนิดต่างๆ

ด้วยความที่คุ้นเคยกับปลานานาชนิดจากการทำมาหากิน แล้วยังมีความสามารถในการแกะสลักหิน ก็เลยทดลองแกะสลักหินให้เป็นรูปปลา ตัวแรกนั้นเริ่มมาจากจินตนาการก่อน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเป็นปลาพันธุ์อะไรก็ไม่รู้ มันมาจากความฝัน แล้วลงมือทำ ตัวแรกใช้เวลาแกะสลักอยู่นาน 3 เดือน แต่พอเสร็จได้ตัวหนึ่ง ก็มีกำลังใจทำต่อ ทำไปทำมา จากที่ใช้เวลา 3 เดือน หรือแค่ตัวละไม่กี่วัน หรือบางตัวก็แค่วันเดียว ก็เสร็จแล้ว

“ปลาที่แกะสลักนี่ ก็มาจากความทรงจำ เพราะเราคุ้นเคยกับปลาพวกนี้มาแต่เด็ก แต่ตัวแรกนั้นเป็นปลาอะไรก็ไม่รู้ แต่พอทำเสร็จได้ก็มีกำลังทำต่อ จนตอนนี้ มีปลาหินมากกว่า 3,000 ชิ้น ที่ทางเราก็ไม่มี ก็ได้ความช่วยเหลือจากกรมทางหลวงให้ตั้งพิพิธภัณฑ์ได้นี่แหละ”

diggifaahaadf67dei6ek

ไม่เพียงแค่แกะสลักปลาชนิดละตัวสองตัว แต่ปลาบางจำพวกที่หากินเป็นฝูงใหญ่ๆ อย่างปลาโอ ลุงกิตติก็แกะสลักหินปลาโอเป็นฝูงเหมือนกัน หรือมองไปที่โต๊ะยาว ที่วางอยู่ข้างทางเข้า-ออก จัดราวกับเป็นโต๊ะอาหาร ก็มีปลานานาชนิดอยู่ในแต่ละจาน แถมปลาบางตัวเห็นแต่ก้าง บางตัวถูกบั้งอีกด้วย ลึกเข้าไปด้านในมีจู้ปลา ที่ใส่ปลาหิน ราวกับเลี้ยงให้ดูเล่น นอกจากปลาต่างๆ แล้ว ยังมี ฉลาม หมึก กุ้ง ม้าน้ำ แมงกะพรุน

“ที่แกะยากที่สุด น่าจะเป็นพวกหมึก เพราะมีหนวด มีรายละเอียดเยอะ ทำให้ต้องเสียเวลา บางตัวเป็นเดือนๆ”

ปลาแต่ละตัวมีสันสันต่างกันไป แต่เป็นสีที่เกิดจากหินธรรมชาติ ไม่ได้มีการแต่งแต้มสีอะไรลงไป (เท่าที่เห็นมีแค่ปลาการ์ตูนตัวเดียวที่ลงสีไว้) ส่วนหนึ่งลุงกิตติบอกว่าได้หินอ่อนที่เค้าทำโรงงานให้มา รวมทั้งยังมีหินอื่นๆ อีกหลายชนิด

พิพิธภัณฑ์ปลาหินดอนสัก ตั้งขึ้นในปี 2533 หลังแกะสลักปลาตัวแรกเสร็จ แล้วเริ่มทำเพิ่มเติมอีกหลายตัว จากนั้นก็ทยอยทำไปเรื่อยๆ ด้วยหวังจะให้สังคมได้เรียนรู้ รักษ์ และตระหนักในคุณค่าของท้องทะเล โดยที่ลงมือทำตั้งแต่ก่อนคิดเรื่องสถานที่ และทุนรอนด้วยซ้ำ และเมื่อทำเสร็จก็ได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่เล็กๆ จากกรมทางหลวงให้เก็บรวบรวม ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ปลาหิน โดยเปิดให้เข้าชมฟรี มีเพียงกล่องรับบริจาคที่ตั้งไว้เท่านั้น

“ผมมีความคิดจะอนุรักษ์ปลาในอ่าวไทยทุกชนิดไว้ในหินแกะสลักให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้รู้จักปลาในอ่าวไทยทุกชนิด”

การกระทำของลุงไม่สูญเปล่าซะทีเดียว อย่างน้อยทางจังหวัดก็เร่งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญา และการอนุรักษ์ท้องถิ่น จึงเลือกได้มอบเกียรติบัตร “คนดี ศรีสุราษฎร์ อำเภอดอนสัก” ประจำปี 2555 ให้เป็นรางวัล

ใครแวะผ่านไป ลองเข้าไปชม ไปให้กำลังใจลุงกิตติกันได้ แล้วจะอึ้ง ทึ่ง กับความสามารถของคนเพียงคนเดียว ที่แกะสลักหินออกมาเป็นรูปปลาต่างๆ ได้มากมายขนาดนี้

(ติดต่อ ลุงกิตติ พิพิธภัณฑ์ปลาหิน 0-77371-197)

ที่มา : komchadluek.net

Gallery

Tag

บทความน่าสนใจ